ผู้เชี่ยวชาญเตือน มัลแวร์แบบออฟไลน์ระบาดหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบติดเชื้อกว่า 50 ล้านเครื่อง

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 889
เขียนโดย :
image_big
image_big
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 889
เขียนโดย :

การแพร่กระจายของมัลแวร์นั้น โดยทั่วไปมักจะนึกถึงในเชิงของการติดเชื้อมัลแวร์จากโลกอินเทอร์เน็ตเพียงเท่านั้น แต่การแพร่มัลแวร์แบบไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (Offline) ในแบบสมัยก่อนยุคอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้หายไปไหน ทั้งยังแฝงตัวเป็นภัยเงียบที่ผู้ใช้งานหลายรายไม่รู้ตัว ทั้งยังประมาทอีกด้วย

จากรายงานโดยเว็บไซต์ Security Brief Asia ได้กล่าวถึงงานวิจัยจากทาง Kaspersky บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสชื่อดัง ได้รายงานถึงการตรวจพบการแพร่กระจายของมัลแวร์แบบออฟไลน์ตลอดปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการตรวจพบเครื่องที่ติดมัลแวร์ด้วยวิธีการแพร่กระจายมัลแวร์แบบออฟไลน์สูงถึง 50 ล้านเครื่องทั่วเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อเทียบกับ ปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) พบว่าเติบโตมากขึ้นถึง 15% โดยเฉลี่ยทั้งภูมิภาคเลยทีเดียว

โดยพาหะของมัลแวร์นั้นจะมาจากไดร์ฟ USB เช่น แฟลชไดร์ฟ และฮาร์ดดิสก์แบบต่อภายนอก (External Hard Disk) เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มักเป็นที่นิยมใช้งานในหน่วยงานรัฐ และธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ในแถบภูมิภาคดังกล่าวเพราะสามารถเก็บข้อมูลอ่อนไหว ข้อมูลที่เป็นความลับต่าง ๆ ได้ดี แต่ถ้าไดร์ฟตัวใดตัวหนึ่งถูกแฮก หรือติดมัลแวร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถูกนำไปใช้ต่อก็จะทำให้เครื่องอื่น ๆ ติดมัลแวร์ต่อ ๆ กันได้อย่างรวดเร็วมาก โดยตลอดปีที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม ไปจนถึงเดือนธันวาคมนั้น ซอฟต์แวร์ของทาง Kaspersky ได้ทำการบล็อกภัยในรูปแบบดังกล่าวไปได้ถึง 49,234,759 ครั้ง ขณะที่ในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) กลับมีจำนวนการบล็อกเพียง 43 ล้านครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกก็คือ เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ภัยของมัลแวร์แบบออฟไลน์ในสิงคโปร์เติบโตสูงที่สุดในเอเชียที่ 88% ตามมาด้วย มาเลเซีย ที่ 47% เวียดนามที่ 25% ไทยที่ 20% และฟิลิปปินส์ที่ 16% ขณะที่การเติบโตของภัยในรูปแบบดังกล่าวนั้น อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการเติบโตที่ลดลงแทน โดยวัดผลแล้วต่ำกว่าปีก่อนถึง 3% ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าประหลาดใจ

จากรายงานข้างต้น ผู้อ่านอาจจำเป็นที่จะต้องระวังในด้านการเสียบใช้งานไดร์ฟ USB ให้มาก ถึงแม้ไดร์ฟเหล่านั้นจะได้รับมาจากที่ทำงานก็ตาม

ต้นฉบับ :
ที่มา :
Copyright Notice : All Rights Reserved. Copyright 1999-2025
Antivirus.in.th is owned and operated by Thaiware Communication Co., Ltd.