พบช่องโหว่บน Windows RDP เปิดช่องให้ล็อกอินด้วยรหัสผ่านที่หมดอายุแล้วได้ แต่ไมโครซอฟท์จะไม่ออกแพทซ์แก้

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 407
เขียนโดย :
image_big
image_big
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 407
เขียนโดย :

เครื่องมือยอดนิยมสำหรับใช้ในการจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใกล้ไปจากผู้ใช้งานคงจะหนีไม่พ้น Remote Desktop โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Windows RDP (Remote Desktop Protocol) ที่มักจะเป็นที่นิยมในฝ่ายไอทีสำหรับการแก้ไขระบบให้พนักงานรายอื่น ๆ แต่ตอนนี้ระบบนี้ได้กลับมาเป็นประเด็นด้านความปลอดภัยอีกครั้ง

จากรายงานโดยเว็บไซต์ Cyber Security News ได้กล่าวถึงการตรวจพบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่สำคัญของ Windows RDP โดยนักวิจัยด้านความปลอดภัยไซเบอร์อิสระรายหนึ่ง ที่ได้พบว่าสามารถล็อกอินเข้าใช้งานระบบ RDP ด้วยรหัสผ่านเก่าได้ถึงแม้จะทำการเปลี่ยนหรือยกเลิก (Revoked) รหัสผ่านเก่าไปแล้วก็ตาม ซึ่งทางนักวิจัยได้รายงานช่องโหว่ดังกล่าวให้กับทางศูนย์ Microsoft Security Response Center ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า ข้อผิดพลาดดังกล่าวไม่ใช่แค่ทำลายความเชื่อมั่นในการใช้งานเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใช้งานทั้งในระดับธุรกิจ และตามบ้าน ต้องตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงอีกด้วย

โดยรายละเอียดของช่องโหว่นั้น ทางนักวิจัยได้เปิดเผยว่า ช่องโหว่ดังกล่าวนั้นเป็นปัญหาในด้านการจัดการระบบยืนยันตัวตนของตัว RDP ที่เชื่อมต่อกับ Microsoft Azure อยู่ ซึ่งในการล็อกอินนั้น ตัว Windows จะทำการตรวจสอบความถูกต้องของรหัสผ่านทางออนไลน์ แล้วจึงทำการบันทึกรหัสผ่านแบบเข้ารหัสไว้บนเครื่อง และในการล็อกอินครั้งถัดไปตัว RDP จะทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันรหัสผ่านกับตัวรหัสที่ถูกเก็บไว้บนเครื่องดังกล่าว นั่นนำมาสู่ปัญหาที่ถึงแม้ผู้ใช้งานจะทำการเปลี่ยนรหัสผ่านบนคลาวด์แล้ว ตัว RDP ก็ยังจะอ้างอิงรหัสผ่านจากบนเครื่อง ทำให้สามารถใช้รหัสผ่านเก่าล็อกอินเข้าใช้งานได้ และในบางกรณีนั้น ผู้ใช้งานอาจใช้งานได้แต่รหัสผ่านเก่า แต่ไม่สามารถใช้งานรหัสผ่านใหม่ได้เลย

ขณะที่ทางไมโครซอฟท์ถึงแม้จะทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ทางไมโครซอฟท์กลับเลี่ยง และปฏิเสธที่จะจัดข้อผิดพลาดดังกล่าวให้อยู่ในหมวดบั๊ก หรือช่องโหว่ความปลอดภัย พร้อมทั้งระบุว่า เป็นการจงใจออกแบบให้มั่นใจว่าจะยังมีอย่างน้อย 1 บัญชีที่สามารถล็อกอินเข้าใช้งานได้ตลอดเวลา ถึงแม้ตัวเครื่องจะไม่เชื่อมต่อกับระบบอย่างยาวนาน พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะออกแพทช์เพื่อแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว และไม่อธิบายถึงวิธีการจัดการกับความเสี่ยงของช่องโหว่นี้แต่อย่างใด

ต้นฉบับ :
ที่มา :
Copyright Notice : All Rights Reserved. Copyright 1999-2025
Antivirus.in.th is owned and operated by Thaiware Communication Co., Ltd.