Kaspersky แนะให้กลุ่มธุรกิจรายย่อยและผู้ใช้ทั่วไปในประเทศไทยเพิ่มความปลอดภัยออนไลน์





ทางบริษัท Kaspersky ได้จัดงานแถลงข่าวออนไลน์ในหัวข้อ Thailand Cyber Landscape and Protection of SMB โดยมีคุณ Siang Tiong Yeo ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คุณเบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย และคุณพุฒิพงศ์ พงศ์ลักษมาณา ผู้จัดการฝ่ายพรีเซลส์ประจำประเทศไทยของบริษัท Kaspersky ร่วมพูดคุย
ภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำบริษัท Kaspersky ประเทศไทย ได้เผยข้อมูลการรายงานข้อมูลวิเคราะห์การโจมตีผ่านเว็บไซต์, ภัยคุกคามทั่วไป และแหล่งที่มาของภัยคุกคามต่าง ๆ จาก Kaspersky Security Network (KSN) พบว่า เมื่อปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ของ Kaspersky ได้ป้องกันผู้ใช้จากภัยคุกคามทางออนไลน์ได้ราว 20,598,223 รายการ ซึ่งคิดเป็นผู้ใช้จำนวน 28.4% ที่เกือบโดนโจมตีทางออนไลน์ (คิดเป็นอันดับที่ 87 ของโลก และอันดับที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
โดยการโจมตีผ่านเว็บไซต์ที่พบมากที่สุด 5 อันดับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประกอบไปด้วย
- Malware จากเว็บทราฟฟิก (เว็บไซต์ที่เป็นทางผ่านไปยังเว็บอื่น ๆ ที่อาจมีไวรัสแฝงภายในเว็บหรือบนโฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ)
- การดาวน์โหลดโปรแกรมหรือไฟล์บางชนิดผ่านอินเทอร์เน็ต
- การดาวน์โหลดไฟล์แนบจากอีเมล
- การใช้ Browser Extensions ต่าง ๆ
- การดาวน์โหลด Component / Communications ด้วย C&C ที่มี Malware แฝง
คุณ Siang Tiong Yeo ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Kasperksy ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ระบุว่าจากการระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้สภาพสังคมทั่วโลกต้องปรับตัวกันไปสู่โลกออนไลน์กันมากขึ้นทั้งการทำงานและการเรียน ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ Hacker หรือผู้ไม่หวังดีต่าง ๆ ได้ทำการหาผลประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งการขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือการหลอกเอาเงิน ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปจึงควรที่จะยกระดับความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงอาชญากรไซเบอร์เหล่านี้
และคุณพุฒิพงศ์ พงศ์ลักษมาณา ผู้จัดการฝ่ายพรีเซลส์ของบริษัท Kaspersky ประเทศไทย ก็ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ของ Kaspersky ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย Kaspersky EDR-O (Endpoint Detection and Response Optimum) ที่เป็นบริการช่วยป้องกันและตรวจจับการคุกคามจากไวรัสและ Malware ประเภทต่าง ๆ พร้อมจัดทำข้อมูลสรุปรายงานลักษณะการโจมตีเพื่อวิเคราะห์และทำการป้องกันการโจมตีในครั้งถัดไป โดยจะสามารถทำได้ทั้งการรันระบบแบบ Auto ทั่วทั้งระบบและ Manual เฉพาะบางส่วน
และ Kaspersky Sandbox ที่เป็นการป้องกันแบบ Automatic ที่สามารถตรวจจับ Malware และไวรัสทุกชนิด โดยมันจะทำการรันไฟล์หรือ URLs ต้องสงสัยบน Sandbox เพื่อวิเคราะห์หาความเสี่ยงในการถูกโจมตีและทำการบล็อกไฟล์หรือ URLs นั้น ๆ ก่อนถึงมือผู้ใช้
อีกทั้งยังแนะให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ จัดการรับมือกับปัญหาภัยคุกคามความปลอดภัยทางไอทีเพื่อรักษาประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในการทำงานแบบ Work from home ดังนี้
- ตรวจสอบว่าอุปกรณ์ของพนักงานสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
- จัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น
- เข้ารหัสข้อมูลและติดรหัสผ่าน รวมทั้งตรวจสอบการสำรองข้อมูล
- ติดตั้ง Antivirus บนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ
- เพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยรหัสผ่านหรือ Biometric
ส่วนผู้ใช้ทั่วไปก็ควรเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตในการทำงานหรือเรียนออนไลน์ได้ ดังนี้
- ตรวจสอบว่าเราเตอร์ Wi-Fi มีการอัปเดตอยู่เสมอและทำงานได้อย่างราบรื่น รวมทั้งตั้งรหัสผ่านที่มีความซับซ้อนเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
- ทำงานบนอุปกรณ์ที่นายจ้างจัดหาให้เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและความลับของบริษัท
- ปรึกษาพูดคุยกับฝ่ายไอทีของทางบริษัทในกรณีที่เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยในการทำงานออนไลน์
- สร้างรหัสผ่านแอคเคาท์ต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและไม่ดาวน์โหลดหรือเปิดลิงก์หน้าสงสัย
- เพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยรหัสผ่านหรือ Biometric
- ติดตั้ง Antivirus บนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ